จิตอาสา เล่าประสบการณ์การป่วยจากโควิด และการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยกันในหอผู้ป่วย และได้เรียนรู้ว่า แม้เราจะป่วย เราก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นได้

27/06/2024

ข้อคิด “มีความภูมิใจที่ ถึงแม้เราจะเจ็บป่วย แต่เราก็ยังได้ดูแลคน”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ในช่วงโควิดเราได้เข้าไปเป็นจิตอาสาที่มูลนิธิชนบท โดยทำหน้าที่กรอกยาแจก ซึ่งไปกับเพื่อน 4 คน โดยในระหว่างการทำงานเราได้มีการไปต้มมาม่ากินกัน ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราติดโควิด เนื่องด้วยหลังจากนั้นเพื่อนของเราได้มีอาการ จึงไปหาหมอและพบว่าติดโควิด เมื่อรู้ว่าเพื่อนมีการติดโควิดเราเองก็ได้ไปตรวจโควิดโดยไม่ได้เป็นการตรวจทันทีหลังจากที่รู้ว่าเพื่อนติด เนื่องจากติดวันหยุดของทางโรงพยาบาล จึงต้องรอประมาณ 2 วัน ซึ่งตอนแรกเราจะไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชแต่ตรวจไม่ได้ เลยได้มาตรวจที่โรงพยาบาลวชิระแทน ซึ่งก็พบว่าเราติดโควิด ความรู้สึก ณ ตอนนั้นที่ทางโรงพยาบาลโทรมาแจ้งคือ ตกใจ ใจเสีย และรู้สึกเฟลที่เราตั้งใจมาเป็นจิตอาสา แต่กลับติดโควิด แต่เมื่อตั้งสติได้เราก็ได้มีการถามการเตรียมตัวกับทางโรงพยาบาลว่าต้องทำยังไงต่อ ซึ่งเราได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณสามวัน 2 วันแรกเรามีความรู้สึกกลัวมาก แต่มีพี่จิตอาสาดูแลดีมากทำให้เกิดความรู้สึกดีขึ้น จนวันที่ 3 ก็ตัดสินใจเป็นจิตอาสาให้เขาต่อ เพราะรู้สึกว่าตัวเองดีขึ้น และโรคก็ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ได้เข้าไปเป็นจิตอาสาที่มูลนิธิชนบทประมาณวันที่ 27 เมษายน 2563 และได้รับแจ้งว่าติดเชื้อโควิดประมาณวันที่ 4 พฤษภาคม 2563

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

มีโรงพยาบาลวชิระช่วยเหลือในการตรวจเชื้อโควิดและกักตัวรักษา และมีอาจารย์ที่ช่วยงานที่มูลนิธิซื้อน้ำ ส่งยาสมุนไพรมาให้ แต่ทางโรงพยาบาลไม่ให้รับ แต่ช่วงที่ไปอยู่โรงแรมข้าวสารพระอาจารย์ก็ได้นำยาสมุนไพรมาฝากให้ทานอีกครั้ง รวมถึงของกินต่าง ๆ นอกจากนี้ก็มีในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้เงินมาจำนวน 3,000 บาท และมีการได้รับเงินกับทางประกันที่ได้ทำเอาไว้ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ประทับใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น รวมถึงมีความภาคภูมิใจ เพราะแม้ว่าเราจะป่วยเป็นโควิดอยู่ แต่เราก็ยังสามารถดูแลคน คอยให้กำลังใจ รวมถึงได้เป็นจิตอาสาในการดูแลคนได้ อย่างเช่น กรณีที่ได้มีโอกาสดูแลคุณป้าที่ป่วยเป็นมะเร็งต้องมาผ่าตัดที่โรงพยาบาล โดยคุณป้าท่านนี้ไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามาเลย เนื่องจากตั้งใจที่จะมาผ่าตัดมะเร็งที่โรงพยาบาลวชิระ แต่บังเอิญตรวจเจอโควิดก่อน ทำให้คุณป้าได้มาอยู่ห้องกักตัวในโรงแรมเดียวกันกับเรา ซึ่งเราก็ได้ช่วยดูแลคุณป้าเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การวัดไข้ การส่งผลแบคทีเรียใน Google From เพราะคุณป้ามีอายุมากแล้ว จนบางทีเราก็เรียกคุณป้าว่า “คุณแม่” นอกจากนี้ยังมีการชวนคุยให้คุณป้าท่านนี้ไม่ต้องเครียด พยายามเปิดเพลงให้ฟัง เปิดธรรมมะ ซึ่งเราก็ได้ดูแลจนคุณป้าแข็งแรง นอกจากนี้เรายังมีความประทับใจโรงพยาบาลวชิระที่ดูแลเป็นอย่างดี รวมถึงประทับใจอาจารย์ และเพื่อน ๆ จากกรมป้องกันที่คอยให้กำลังใจ รวมถึงสอบถามทุกวันว่าเป็นยังไงบ้าง ซึ่งเราประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะเรามองว่าตอนที่เจ็บป่วยกำลังใจสำคัญที่สุด ดังนั้นเมื่อเราแข็งแรงจึงอยากที่จะดูแลคนอื่น และให้กำลังคนอื่นด้วยคำพูดดี ๆ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

จากประสบการณ์ที่เราได้เห็นช่วงที่ตัวเองติดโควิด ทำให้ได้เรียนรู้ว่าโรคโควิดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และได้เรียนรู้ว่าพอมีสถานการณ์วิกฤตมีจิตอาสาออกมาช่วยเหลือเยอะ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือตัวบุคคล ซึ่งเราได้เห็นพลังจิตอาสาของคนไทยที่เข้มแข็ง มีจิตใจเอื้ออาทร แบ่งปัน เมตตา กรุณา และรักกันมาก

อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรม เล่าเรื่องการพัฒนาตู้เย็น และแจกจ่ายให้โรงพยาบาลในช่วงโควิด

โครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ Covid 19” เครือข่ายสภาอุตสาหกรรม

พยาบาลลูกอ่อน เล่าถึงความประทับใจในการปฏิบัติงานในช่วงโควิด

พยาบาลแผนกอายุรกรรมสู่การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ โควิดระบาด โควิด 19

พยาบาลดูแลหอผู้ป่วยพิเศษ ต้องเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะวิกฤต เล่าถึงการดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้าย ให้มีโอาสได้สื่อสารกับญาติ และการบอกลาอย่างอบอุ่น

Palliative Care ช่วงสุดท้ายของชีวิต โควิด 19